ที่มา: dodeden

การเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ในวงการศัลยกรรม และความงามในประเทศไทย หลังจาก “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” คลอดพระราชบัญญัติสถานพยาบาล ( ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้ 21 ธันวาคม 2559 ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมยกระดับระบบบริการสุขภาพ สร้างคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย

ในระยะนี้ สถานพยาบาล เกือบทุกแห่งได้ติดตามข่าวสารความคืบหน้าของ พ.ร.บ.ดังกล่าวตลอด ผู้ประกอบการบางรายกังวลใจ และ ยังไม่เข้าใจในหลายๆ ประเด็น

ดังนั้น เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสาร ทุกประเภท เน้นไปทางด้านสุขภาพ สังคม ศัลยกรรมความงาม สาธารณสุข วาไรตี้ ฯลฯ  จึงได้ลงพื้นที่ใกล้ชิดกับแหล่งข่าวตลอดเวลาเพื่ออัพเดทให้ทราบกันเพื่อท่านจะได้ไม่ต้องลำบากใจ และ เดินหน้าทำธุรกิจอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศชาติพัฒนาอย่างมั่นคง และ ยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้  ข่าวที่โดดเด่นนำเสนอเตือนภัยว่ามีชายหนุ่มใช้นามแฝงว่า “หมอต้อล” โฆษณาผ่านสื่อโซเชียลเชิญชวนให้ประชาชน เข้ารับบริการเสริมความงามทั้งการผ่าตัดเสริมดั้งจมูก ทำปากกระจับ ที่คลินิกย่านชินเขต ซึ่งจากการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของแพทยสภาไม่พบบุคคลดังกล่าวมีรายชื่อเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม

เรื่องนี้ทำให้เกิดความแตกตื่นอย่างมาก โดยเฉพาะกับสถานพยาบาลเสริมความงาม เนื่องจากข่าวหมอเถื่อนเพียงแค่แห่งเดียวทำให้ภาพรวมเสียไปหมด  ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ ผู้ประกอบการก็ลำบากใจ ดังนั้น  เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม ได้กระตือรือร้น ในปรากฏการณ์ดังกล่าว

เนื่องจาก  วงการศัลยกรรมและความงามในไทย มีอัตราการเติบโตด้วยค่าเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี ชี้ให้เห็นว่าเรากำลังกลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีรายได้จากธุรกิจศัลยกรรมและความงามในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท และนี่คือนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ในช่วงรอบปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา จะพบว่าภาพรวมของวงการศัลยกรรมและความงาม มีภาพลักษณ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับชาวต่างชาติที่นิยมบินมาทำศัลยกรรมในเมืองไทย ซึ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วนั้นบางครั้งการมีข่าวบุกจับคลินิกเสริมความงามทำให้ชาวต่างชาติตื่นตกใจ ยกเลิกเดินทางเข้ามาในไทย สูญเสียโอกาสทางธุรกิจอย่างมาก

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น ศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพ  ( Medical Hub )   และแพทยสภาจะร่วม ผลักดันให้การแพทย์ทางด้านศัลยกรรมและความงามของไทย ยกระดับเป็น Cosmetic Hub ไปในเวลาเดียวกัน  ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล

ภาพการจับกุมหมอเถื่อน หรือ หมอกระเป๋า ลักลอบฉีดผิวขาวให้คนไข้ ตามคอนโดฯ 

สอดคล้องกับนโยบายของ นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ที่เน้นในเรื่องของการควบคุม ป้องกัน ดูแล ส่งเสริมและ สนับสนุน ไปพร้อมๆ กัน โดยยึดหลักความถูกต้อง และปลอดภัยของคนไข้เป็นอันดับแรก ซึ่งในยุคของนายแพทย์วิศิษฎ์ นั่งเป็น อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( กรม สบส. ) มีการจับกุมหมอเถื่อนอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ค่อยมีข่าวออกมามากมายนัก เนื่องจากท่านเป็นห่วงภาพลักษณ์ของประเทศ

คราวนี้เรามาดูกันว่า  พระราชบัญญัติสถานพยาบาล ( ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2559 สถานพยาบาลเสริมความงาม จะต้องปรับตัวอย่างไร ? เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม มีคำตอบมาฝากกัน

ที่ผ่านมา เราได้ศึกษาหาข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น จากภาครัฐ เอกชน สมาคมต่างๆ  เพื่อนำข่าวสารมานำเสนอให้ถูกต้อง ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงนี้เป็น “รอยต่อ” ที่ต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไป จากการลงพื้นที่ของ ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์โดดเด่นดอทคอมพบว่ามีผู้เข้าใจ “กฎหมายสถานพยาบาลใหม่” แตกต่างกันออกไป

ในความจริงแล้ว  ขณะนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมา แต่เรายังต้องรอกฎหมายอนุบัญญัติ ที่กำลังร่างกันอยู่ ดังนั้นในช่วงนี้เรายังคงยึด พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( กรม สบส. )

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร กล่าวกับเว็บไซต์โดดเด่นดอทคอมว่า เจตนารมณ์ของ “กฎหมายสถานพยาบาลใหม่”  นี้ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพครอบคลุมสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพการบริการของสถานพยาบาลในประเทศไทย

“กฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องแสดงชื่อ รายการผู้ประกอบวิชาชีพ อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการอื่นแล้ว ยังต้องแสดงค่ายา-เวชภัณฑ์ ห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่แสดง

นายแพทย์วิศิษฎ์ เน้นย้ำว่า ที่สำคัญอย่างยิ่ง กฎหมายฉบับนี้ได้ปรับปรุงเงื่อนไข การอนุญาตการโฆษณาสถานพยาบาลให้รัดกุมขึ้น โดยกำหนดให้การโฆษณาทุกชนิดในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องขออนุญาตจากกรม สบส.  และในส่วนภูมิภาค ให้ขออนุญาตที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

รวมทั้งได้เพิ่มโทษการโฆษณาโอ้อวดให้หนักขึ้นจากเดิมซึ่งมีแค่โทษปรับอย่างเดียว แต่กฎหมายฉบับนี้เพิ่มโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา

ในกรณีที่ลักลอบโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบา จนกว่าจะระงับการโฆษณา กรณีโฆษณาที่มีการเผยแพร่ก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการขออนุญาตกับกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ภายใน 90 วัน หลังจากประกาศที่ออกตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นขออนุญาตแล้วอนุโลมให้โฆษณาต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งผลการพิจารณา

สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน ได้เพิ่มโทษหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อป้องปรามการกระทำผิด เช่น การลักลอบเปิดสถานพยาบาลโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกจากเดิมไม่เกิน 3 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี หรือปรับเพิ่มจากเดิมไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการเก็บค่ารักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์เกินกว่าที่แสดงไว้ที่ป้าย ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมมีโทษปรับอย่างเดียวไม่เกิน 2 หมื่นบาท

นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมโทษถึงผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบการดำเนินงานของนิติบุคคล จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิด จะต้องร่วมรับผิดชอบในความผิดนั้นด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายสองฉบับนี้แตกต่างกันในเรื่องบทลงโทษ เพราะมีโทษจำคุกเข้ามาด้วย นับเป็นเรื่องที่ผู้คนในแวดวงนี้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลย หากทำถูกฎหมาย จะเป็นผลดีต่อธุรกิจศัลยกรรมและความงาม และในอนาคตอันใกล้นี้  การแพทย์ทางด้านศัลยกรรมและความงามของไทย จะถูกยกระดับเป็น Cosmetic Hub  แข่งขันกับต่างประเทศได้แน่นอน

“นาย น.”  ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม / รายงานพิเศษ  


ในช่วงรอยต่อนี้ เรามาดูกฎหมายเดิมเพื่อปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 ( พ.ศ. 2546 ) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล ซึ่งออก ตามมาตรา 38 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่กำหนดว่า ห้ามโฆษณาหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาด้วยถ้อยคำที่เป็นเท็จหรือโอ้อวด โดยใช้บังคับกับสถานพยาบาลที่ไม่ใช่สังกัดของหน่วยงานราชการ ประกาศดังกล่าว กำหนด 18 ข้อห้ามโฆษณาสถานพยาบาลในลักษณะ ดังนี้

1. ห้ามใช้ข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่ไม่มีมูลความจริงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือมีลักษณะหลอกลวงหรือปกปิดความจริงหรือทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นจริง 2. การใช้ข้อความทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่ามีบุคลากร เครื่องมือ เครื่องใช้และอุปกรณ์แต่กลับไม่มีให้บริการ 3. การใช้สถาบัน หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคล ที่ไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานรัฐ

4 การโฆษณาบริการโรคที่ไม่มีอยู่ในสาขาที่ผู้ประกอบวิชาชีพมีหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตร 5 การอ้างอิงรายงานวิชาการ ผลงานวิจัย สถิติ โดยข้อมูลที่อ้างอิงไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ 6 การใช้ข้อความหรือรูปภาพ โอ้อวดเกินจริงหรือข้อความที่กล่าวอ้างหรือบ่งบอกว่าของตนดีกว่า เหนือกว่า ดีที่สุด รายแรก แห่งแรก รับรองผล 100% หรือการเปรียบเทียบหรือข้อความที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าการบริการของสถานพยาบาลแห่งนั้นมีคุณภาพที่ดีกว่า เหนือกว่าหรือสูงกว่าที่อื่น

7 การโฆษณากิจการสถานพยาบาล หรือการโฆษณาความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาลคุณภาพหรือประสิทธิผล สรรพคุณ กรรมวิธีหรือเปรียบเทียบผลก่อน – หลังในทำนองให้เข้าใจผิด 8 การใช้ชื่อสถานพยาบาลหรือข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ามีการประกอบกิจการที่ไม่ตรงกับการรับอนุญาต

9 การโฆษณาสถานที่ซึ่งไม่ใช่เป็นของสถานพยาบาล 10 การโฆษณาด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่ประชาชน 11 การใช้ภาพหรือเสียงที่ไม่เหมาะสมสร้างความหวาดกลัว หรือมีลักษณะเป็นการส่อไปในทางลามกอนาจาร กระตุ้นหรือยั่วยุทางกามารมณ์

12 การใช้ภาพหรือเสียงโดยไม่สุภาพหรือแสดงอาการทุกข์ทรมานของผู้ป่วย 13 การให้ร้าย เสียดสี หรือทับถมสถานพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่น 14 ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม 15 การโฆษณาที่รวมอยู่กับข้อความถวายพระพร หรือข้อความอย่างอื่นที่อ้างอิงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เว้นแต่ชื่อของสถานพยาบาลหรือผู้ประพันธ์บทความดังกล่าว

16 การโฆษณาการให้บริการฟรี 17 การโฆษณาที่จัดให้มีการแถม แลกเปลี่ยน ให้สิทธิประโยชน์ รางวัล หรือการเสี่ยงโชค จากการรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาล 18 ห้ามการให้ส่วนลดค่าบริการหรือค่ารักษาพยาบาล เว้นแต่ลดเพื่อการอนุเคราะห์บุคคลด้อยโอกาส ลดต่อสมาชิกกลุ่มบุคคลหรือสถาบันหรือองค์กรเป็นการแจ้งให้ทราบเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท นับแต่วันที่ฝ่าฝืน จนกว่าจะระงับการโฆษณา

ในส่วนของแพทย์ ตามประกาศแพทยสภา ที่ 50/2549 เรื่อง คำที่ห้ามใช้ในการโฆษณา ออกบังคับใช้กับแพทย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 กำหนดคำที่ห้ามแพทย์ใช้ในการโฆษณา 15 คำเบื้องต้น ดังนี้

1. คำว่า เพียง เช่น เพียง 4,000 บาท ต่อ ครั้ง

2. คำว่า เท่านั้น เช่น รักษาครั้งละ 500 บาท เท่านั้น

3. คำว่า พิเศษ เช่น พิเศษสำหรับสมาชิกบัตรเครดิต ค่ารักษา

4. คำว่า เฉพาะ เช่น ราคานี้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น

5. คำว่า ล้ำสมัย หรือ เช่น ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แห่งเดียว/แห่งแรกในประเทศไทย

6. คำว่า นำสมัย เช่น อุปกรณ์ที่นำสมัยในการให้การรักษา

7. คำว่า ราคาเดิม เช่น เสริมจมูก ตกแต่งใบหน้า 3,000 บาท จากราคาเดิม 4,000 บาท

8. คำว่า ครบวงจร เช่น โดยทางศูนย์ให้บริการแบบครบวงจร การแสดงราคาเปรียบเทียบ เช่น จากเดิม 6,000 บาท เหลือ 4,000 บาท

หรือการแสดงราคาเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลอื่น เช่น โรงพยาบาล น. ราคาโปรแกรมตรวจสุขภาพ ราคา 3,000 บาท แต่โรงพยาบาล ร.โปรแกรมตรวจสุขภาพ ราคา 2,000 บาท การใช้คำว่า ปกติ กับ เหลือ เช่น ปกติ ราคา 500 บาท จองวันนี้ เหลือ 300 บาท โดยสิทธิ์นี้ใช้ได้ จนถึงสิ้นเดือน

9. คำว่า ฟรี เช่น จองวันนี้แถมฟรี ตรวจความดันปัสสาวะ ฯลฯ

10. คำว่า สวยจริง จริงบอกต่อ

11. คำว่า อยากสวย สวยที่

12 คำว่า งดงามที่… มีเสน่ห์ที่…

13. คำว่า สวยเหมือนธรรมชาติที่…

14. คำว่า เหนือกว่า / สูงกว่า

15. คำว่า โรค…รักษาได้ ( ต้องมีข้อมูลทางวิชาการ 80% ขึ้นไป ว่าโรคดังกล่าวสามารถรักษาหายได้ )

ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และเพิกถอนใบอนุญาตฯ

เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม / รายงานพิเศษ  

เรื่องน่าสนใจ