ที่มา: เดลินิวส์

ภาพประกอบโดย : โดดเด่นดอทคอม

ช่วงรอบเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุสลดอีกครั้งเมื่อ พริตตี้สาว จากเมืองเชียงใหม่ เสียชีวิตจากขั้นตอนการดมยาสลบโดยผู้ที่ไม่ใช่วิสัญญีแพทย์ระหว่างการผ่าตัด ทำหน้าเรียวด้วยเทคนิควีไลน์

Beautiful woman gets an injection in her face - collage

หากยังพอจะจดจำกันได้เมื่อไม่นานเท่าใดนัก เคยมีของ บัณฑิตหนุ่มเพิ่งจะจบใหม่คนหนึ่งให้รางวัลชีวิตตัวเอง ด้วยการทำศัลยกรรม ฉีดฟิลเลอร์ (สารเติมเต็ม) เพื่อเสริมจมูก แต่สุดท้ายได้ส่งผลกระทบทำให้ตาบอดถาวรไป 1 ข้าง หลังจากถูกจดปลายเข็มเข้าบริเวณจมูกเพียงไม่กี่นาที โชคยังดีที่รอดจากการเป็นอัมพาตมาได้!!

และช่วงรอบเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุสลดอีกครั้งเมื่อ พริตตี้สาว จากเมืองเชียงใหม่ เสียชีวิตจากขั้นตอนการดมยาสลบโดยผู้ที่ไม่ใช่วิสัญญีแพทย์ระหว่างการผ่าตัด ทำหน้าเรียวด้วยเทคนิควีไลน์ ในคลินิกศัลยกรรมตกแต่งแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ หลังเกิดเหตุมีการตรวจสอบคลินิกที่พยายามจะปิดตัวเองย้ายหนี แต่ก็ไม่วายถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดก่อนจะสั่งปิดเป็นทางการเป็นเวลา 60 วัน ภายหลังจากมีทั้งคนหนุ่มสาวและวัยรุ่น ต้องตกเป็นเหยื่อจากการทำศัลยกรรมไม่ได้มาตรฐาน ที่มีทั้งเสียชีวิตและพิการต่อเนื่อง

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภาอธิบายว่าการทำศัลยกรรมในปัจจุบันมีทั้งประเภทที่ ต้องผ่าตัด และ ไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งขณะนี้พบว่าสัดส่วนของการทำศัลยกรรมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 15-20% เรียกว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในขณะที่สถิติของทั่วโลกรวมกันแล้วเพิ่มขึ้นเพียง 10% เท่านั้น แต่สิ่งที่ตามมาจากความนิยมคืออันตรายจากการทำศัลยกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากแพทย์ไม่มีความเชี่ยวชาญ และการใช้อุปกรณ์ รวมถึงสารต้องห้าม

Plastic Surgery

เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า อย่างกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับพริตตี้สาวที่เสียชีวิตจากแพ้ยาสลบนั้นเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอันตรายร้ายแรงจากการศัลยกรรมโดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้การดมยาสลบนั้นถือเป็นความเสี่ยงทำให้เสียชีวิต คิดเป็นอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 50,000-200,000 ราย ที่ผ่านมาในประเทศไทยก็พบปีละ 1-2 ราย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากที่รู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร กับใครเพราะไม่สามารถสังเกตได้จากสีหน้าผู้รับบริการ เนื่องจากการแพ้ยาเป็นความผิดปกติในระดับยีน ดังนั้นถึงต้องมีวิสัญญีแพทย์ที่เชี่ยวชาญประกบตลอดช่วงการผ่าตัดเพื่อคอยปรับสมดุลยาให้เหมาะสม

บวกกับสถานที่ผ่าตัดจะต้องมีความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ บุคลากรทีมผ่าตัด และอุปกรณ์ช่วยเหลือชีวิต นอกจากนี้ นพ.สัมพันธ์ ยังได้ยกตัวอย่างการ ผ่าตัดเสริมจมูก ว่า อาจเป็นผลมาจากอิทธิพลความสวย หล่อแบบเกาหลี หรือความต้องการพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการเข้าสังคม ต่ออาชีพการงาน แต่ปัญหาก็เพิ่มขึ้นมาก อาทิ ปัญหาเย็บปีกจมูกไม่เท่ากัน เย็บติด ปิดรูจมูกหายใจไม่ได้ เบี้ยว เอียง ทะลุ อักเสบ ผิดรูป เป็นต้น ซึ่งแต่ละปีพบมากถึง 40% ไม่รวมอันตรายหรือผลกระทบจากการศัลยกรรมประเภทอื่น ๆ

ตรงนี้เป็นผลมาจากการที่หมอที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่จบมาโดยตรงจนเกิดการฟ้องร้อง หรือตั้งเฟซบุ๊กขึ้นมาตำหนิกันเองระหว่างคนไข้ สำหรับการศัลยกรรมโดยไม่ต้องผ่าตัดคือการฉีดสารต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย ยกตัวอย่าง เช่น การฉีดสารฟิลเลอร์เพื่อเสริมจมูกนั้น ปัจจุบันมีเพียงแค่ “ไฮยาลูรอนิค แอซิด” (Hyaluronic Acidb) เท่านั้น ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ แต่ก็ยังพบการลักลอบใช้ ฟิลเลอร์ต้องห้ามประเภทที่ไม่สลายตัว ก่อให้เกิดปัญหาฟิลเลอร์ไหลย้อย ใบหน้าเป็นตะปุ่มตะปา ไม่สวย ผิวหนังตายดำ อุดตันเส้นเลือด จนต้องมาขูด มาผ่าตัดแก้ไขเป็นจำนวนมาก

แต่ที่อันตรายที่สุดคือภาวะ ตาบอด ไม่ว่าจะใช้ฟิลเลอร์ที่ได้รับอนุญาตหรือตัวต้องห้าม หากผู้ทำหัตถการไม่มีความชำนาญมากพอ ซึ่งที่ผ่านมาพบกว่า 6-8 รายในประเทศไทย’ตอนนี้ยังมีข้อถกเถียงกันเรื่องที่ว่าการทำศัลยกรรมบางอย่างต้องอนุญาตให้ทำในคลินิกได้หรือไม่ เพราะมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือไม่ว่าเป็นที่คลินิกหรือโรงพยาบาล จะต้องมีความพร้อมของสถานที่ทำต้องมีความพร้อมของเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ช่วยชีวิตต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะการศัลยกรรมใหญ่ ๆ เช่นต่อกระดูก ทุบกราม เหลาหน้า ดูดไขมัน ถ้าเยอะอย่างนี้ต้องทำที่โรงพยาบาล

Female Doctor or Nurse In Handcuffs and Lab Coat Holding Stethoscope.

นพ.สัมพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมตรงนี้ จึงอยากให้ประชาชนตัดสินใจให้ดี ๆ ก่อนการทำศัลยกรรม ที่ห้ามเลยคือการใช้บริการ หมอกระเป๋า เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมากมายเกินกว่าจะนึกถึงได้ อย่าเชื่อคนง่าย อย่าดูแค่เว็บไซต์ ครั้ง 2 ครั้ง ก็ทำเลย ควรเลือกทำกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การทำงานสูง ถึงกระนั้นก็อย่าหลงคารมแพทย์ ให้ดูที่ผลงานเป็นหลัก และควรปรึกษาแพทย์อย่างน้อย 3 คน และถ้าจะให้ดีควรไปทำศัลยกรรมที่โรงพยาบาลจะดีกว่า อย่าเสี่ยงทำตามคลินิก

ที่สำคัญอย่าเสพติดศัลยกรรม ชีวิตคนเราไม่ได้เคร่งครัดจนมีข้อบกพร่องไม่ได้ ขณะเดียวกัน นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การทำศัลยกรรมในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ถูกตราหน้าว่าเป็นดินแดนอันตรายแห่งการศัลยกรรมจากเดิมที่ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศว่าเป็นผู้นำทางด้านความงามแห่งเอเชียทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลมาจากการด้อยคุณภาพของแพทย์ศัลยกรรมที่เพียงแค่เรียนจบแล้วไปอบรมที่ประเทศเกาหลีเพียงเดือน 2 เดือน ก็อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ

นพ.ชลธิศ เล่าว่า จริงๆ แล้ว เรื่องการแพทย์กับความงามในประเทศไทยนั้นเริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 40-50 ปีที่แล้วจากกลุ่มทันตแพทย์ฝีมือดีในเมืองไทย ทำฟันให้กับผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นทั้งนักธุรกิจ แม่บ้าน หรือแม้ผู้ป่วยต่างชาติขาจร ซึ่งนอกจากจะฝีมือดีแล้วค่าใช้จ่ายยัง ถูกเท่ากับค่าทำฟันเพียงซี่เดียวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลพลอยได้จากการทำฟันคือรูปหน้าที่ดูดี และยอมรับเรื่องฝีมือจนเกิดการเติบโตของธุรกิจความงาม เริ่มมีการทำตา 2 ชั้น ทำจมูก

สมัยนั้นแพทย์มีน้อยแต่ทำงานเอาคุณภาพ ภายใต้ค่าใช้จ่ายที่ถูกแสนถูก จึงเกิดการบอกต่อจนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา และสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความงามก็เริ่มเป็นที่นิยม รวมถึงสปา นวดแผนไทยเติบโตโดยไม่ต้องโฆษณา จนถูกเรียกว่าเป็นผู้นำทางด้านความงามของเอเชีย แม้แต่ประเทศเกาหลีฝีมือยังไม่สู้กับฝีมือแพทย์ไทย จนเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมาประเทศเกาหลีเห็นการศัลยกรรมความงามของประเทศไทยโตมาก ทำให้รัฐบาลของประเทศดังกล่าวให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ มีการโฆษณาสูง สร้างศิลปิน นักแสดงให้ได้รับความนิยมเป็นต้นแบบให้กับชาติอื่นเอาเป็นตัวอย่าง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ต้องการสวย หล่อแบบนั้นบ้าง

07

และอย่างที่บอกว่าแวดวงศัลยกรรมของไทยไม่มีการโฆษณา จึงเกิดการแห่ไปทำศัลยกรรมที่ประเทศเกาหลี และ 5 ปีหลังมานี้ประเทศเกาหลีแซงหน้าประเทศไทยไปเยอะมาก นพ.ชลธิศ ย้ำว่า ขณะนี้ความเสียหายจากการทำศัลยกรรมในประเทศไทยเยอะมาก จนสำนักข่าวเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ตั้งข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ซึ่งต้องเรียนว่าไม่ได้เป็นเพราะใครเลย เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นเจ้าแห่งความงามทั้งหมดนี้เกิดจากฝีมือของแพทย์ไทยล้วน ๆ และตอนนี้ที่กำลังจะเสื่อมความนิยม

เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่แพทยสภา และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องกำหนดหลักสูตรการเรียน การฝึกอบรมทางด้านนี้อย่างจริงจัง วางโครงสร้างการผลิตบุคลากรทางด้านนี้เพื่ออุดช่องโหว่ ไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญการเป็นศัลยแพทย์เข้ามาทำศัลยกรรมความงามจนเกิดอันตรายกับผู้มาใช้บริการ เสียเวลาสักนิดเพื่อศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาตัวเอง เพราะการทำศัลยกรรมเปรียบเหมือนดาบ 2 คม หากทำกับแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยว ชาญแทนที่จะสวย หล่อ อาจจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เสียเวลา เสียเงิน แล้วแถมยังต้องมานั่งเสียใจ ที่สำคัญการรักษา แก้ไขก็ไม่รับประกันด้วยซ้ำว่าคุณจะเหมือนเดิม เรื่องแบบนี้มีตัวอย่างให้เห็นก็มาก

เรื่องน่าสนใจ