ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 3 กรกฎาคม 2560 ) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เตือนเลือกคลินิกให้ดี โดยกล่าวว่า ปัจจุบัน ประชาชนทั้งชาย หญิงต่างให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ และความงามเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้สถานพยาบาลที่ให้บริการเสริมความงามมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ละแห่งจึงมีการแข่งขันด้วยการโฆษณาผ่านสื่อทุกช่องทาง

โดยเฉพาะการโฆษณาชักชวนให้ฉีดสารเสริมความงาม อาทิ โบท็อกซ์ (Botox), ฟิลเลอร์ (Filler) ฯลฯ ในบริเวณต่างๆ เช่น ใบหน้า ต้นขา และสะโพกซึ่งไม่ต้องใช้การผ่าตัด วางยาสลบ และใช้เวลาพักฟื้นไม่นานเป็นจุดขาย ทำให้ประชาชนหลายคนตัดสินใจเข้ารับบริการเสริมความงามมากขึ้น โดยมิได้คำนึงถึงผลข้างเคียง หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นหากได้รับบริการจากหมอเถื่อน

เตือนเลือกคลินิกให้ดี

การฉีดสารเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน การติดเชื้อจากเครื่องมือไม่สะอาด สารที่ฉีดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดทำให้เนื้อตาย หรืออุดตันหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาจนทำให้ตาบอด อีกทั้งหากสารที่ฉีดรั่วไหลเข้าไปในกระแสเลือด หรือผู้รับบริการมีอาการแพ้อย่างรุนแรงอาจก็อาจจะเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และป้องปรามการกระทำผิดในสถานพยาบาล กรม สบส.ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ คุมเข้มคุณภาพ มาตรฐานคลินิกเอกชน โดยเฉพาะคลินิกที่ให้บริการเสริมความงามซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ให้มีการดำเนินการเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559

โดยกำหนดให้ ทั้งสถานที่ต้องสะอาด, แพทย์ผู้ให้บริการต้องมีใบประกอบวิชาชีพถูกต้อง, เครื่องมือแพทย์จะต้องสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนและหลังการใช้งาน, ยา และเวชภัณฑ์ ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

หากผิดมาตรฐานด้านใดด้านหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่จะให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเกินระยะเวลาแล้วยังไม่มีการปรับปรุงจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

ประการสำคัญ การเลือกรับบริการเสริมความงามจากคลินิก ไม่ควรอาศัยเพียงคำโฆษณา หรือราคาที่ถูกมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ หากพบว่ามีการคิดค่าบริการที่ถูกกว่าความเป็นจริงมาก ให้ตั้งข้อสงสัยถึงคุณภาพยาหรือสารที่ฉีด และให้สอบถามถึงชื่อของยา หรือสารที่ฉีด

และให้ตรวจสอบว่ามีการขึ้นทะเบียนกับ อย.หรือไม่ ที่เว็บไซต์ อย. (http://www.fda.moph.go.th) หากไม่มีการขึ้นทะเบียนให้หลีกเลี่ยงการรับบริการ และใช้สมาร์ทโฟนถ่ายรูปเป็นหลักฐาน

พร้อมแจ้งมาที่กรม สบส.ทาง เฟสบุ๊ค “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สบส. กระทรวงสาธารณสุข” หรือที่กลุ่มคลินิก สพรศ. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18407 เพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป

เรื่องน่าสนใจ