ที่มา: Phachara Phuvanart

เที่ยวเหมืองแร่เก่า บอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีต ที่ปิล๊อก กาญจนบุรี ที่เป็นสถานที่ที่เคยเป็นแหล่งเหมืองแร่เก่า มีนักท่องเที่ยวแวะมาเที่ยวชมกันไม่น้อย ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีต ครั้งเมื่อผืนดินแห่งนี้เต็มไปด้วยแร่ที่มีค่า เสมือนเป็นขุมทองของนักแสวงโชคจากทั่วทุกสารทิศ

 

เที่ยวเหมืองแร่เก่า
ภาพจาก Phachara Phuvanart

 

เที่ยวเหมืองแร่เก่า บอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีต ที่ปิล๊อก กาญจนบุรี

เมื่อประมาณ 70 กว่าปีก่อน ในช่วงการล่าอาณานิคม ขณะนั้นประเทศพม่าได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มีชาวพม่าจำนวนหนึ่งได้เข้ามาหาแร่วุลแฟรม และดีบุก เพื่อนำไปขายต่อให้กับทหารอังกฤษ เอาไปผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการสงคราม ว่ากันว่ามีนายพรานฝั่งไทย 2 คน คือพรานไผ่ และพรานผาแป เข้าไปตามรอยกระทิงในป่า แล้วไปเจอชาวพม่ากำลังขุดหาแร่อยู่ จึงนำเรื่องไปแจ้งทางการไทย เมื่อปี พ.ศ. 2481 กรมโลหกิจ องค์การเหมืองแร่ ในหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้น จึงได้เข้ามาสำรวจสายแร่ในบริเวณปิล๊อกนี้ พบว่าแถวนี้มีสายแร่ดีบุกและแร่วุลแฟรมอยู่มาก รวมถึงมีแร่ทังสะเตน และสายแร่ทองคำปะปนอยู่ด้วย

 

เที่ยวเหมืองแร่เก่า

ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 องค์การเหมืองแร่ จึงได้จัดตั้งเหมืองแร่แห่งแรกขึ้นในตำบลปิล๊อก หลังจากนั้นก็เปิดให้สัมปทานแก่นักลงทุนเอกชน จนทำให้มีเหมืองแร่เกิดขึ้นมากมายราวดอกเห็ดราวๆ 50-60 แห่ง ทั้งเหมืองขนาดเล็กและใหญ่ รวมถึงเหมืองเถื่อน และการแอบลอบขุดนำไปขายของชาวบ้าน ในขณะนั้นเองก็ยังมีชาวพม่าจำนวนหนึ่งเข้ามาขุดแร่เพื่อนำไปขายให้แก่อังกฤษ ซึ่งทำให้ทางการไทยต้องเข้าปราบปราม ต่อสู้กัน จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

 

เที่ยวเหมืองแร่เก่า

รวมถึงการขุดอุโมงค์เพื่อเข้าไปหาแร่บนภูเขานั้น มีอันตรายมากมาย ทั้งเกิดอุโมงค์ถล่ม หินถล่ม ไข้ป่า มาเลเรีย ทำให้คนงานเหมืองเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าชื่อเหมืองปิล๊อกนี้ เป็นคำที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เหมืองผีหลอก” เพราะมีคนตายมากมาย และเมื่อคนงานพม่าเรียกต่อๆ กันไป จึงเพี้ยนเป็น “เหมืองปิล๊อก”

 

เที่ยวเหมืองแร่เก่า

ช่วงยุคทองของการค้าแร่ ถือได้ว่ารุ่งเรืองมาก จนครั้งนึง ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตดีบุกที่สำคัญของโลก ประมาณปีพ.ศ. 2527-2528 ความรุ่งโรจน์ของการขุดแร่ได้จบลง เมื่อจีนได้ปล่อยดีบุกจำนวนมากออกขายในราคาถูก ราคาแร่ดีบุกจึงเข้าสู่วิกฤตการณ์เลวร้าย ตกต่ำอย่างรุนแรง ทั้งยังมีเทคโลยีการผลิตพลาสติกเข้ามาแทน ทำให้การใช้ดีบุกลดลง เหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทยจึงต้องทะยอยปิดตัวลง คนงานต่างก็พากันอพยพไปทำงานที่อื่น และในที่สุด ตำนานแห่งเหมืองปิล๊อก จึงกลายเป็นเพียงเรื่องราวในอดีตที่ถูกเล่าขาน

 

เที่ยวเหมืองแร่เก่า

 

ปัจจุบัน ไม่มีการขุดหาแร่อีกแล้ว เหลือเพียงซากรถเก่าที่เคยบรรทุกแร่ โรงเก็บอุปกรณ์การร่อนแร่ถูกทิ้งร้าง และพื้นที่บางส่วนที่เคยเป็นอุโมงค์ขุดเจาะแร่ ทิ้งไว้ให้เห็นถึงยุคที่เคยรุ่งเรืองในอดีตเท่านั้น

……………………………………………………..

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ