ที่มา: Doctor-Nash.com

เป็นบทความดีๆ ที่ชาวเน็ตแชร์กันมากมายเลยล่ะค่ะ เมื่อดร. ณัชร เจ้าของเว็บบล็อค www.doctor-nash.com ได้เขียนขึ้นเมื่อปี 2558 ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวดีๆ ว่าเพราะเหตุใด พสกนิกรชาวไทยหลายคน ถึงต้องตื้นตันน้ำตาไหลทุกครั้งเวลาที่ได้เห็น ในหลวงรัชกาลที่ 9 บทความนี้จะดีอย่างไรนั้นไปอ่านกันได้เลยค่ะ ( บทความนี้เดิมเขียนขึ้นไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ดังนั้นพระนาม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในบทความนี้ จึงหมายถึง สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช )

04
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโบกพระหัตถ์ให้ประชาชนที่มาเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ในงานฉลองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี ภาพจาก palaces-thai

ซีรี่ส์ “เรื่องดี ๆ จากดร.ณัชร” เรื่องที่ 128

“…พอเห็นพระองค์ท่านโบกพระหัตถ์ ผมก็น้ำตาไหลเลยครับ  ไม่รู้ว่าทำไม  อยู่ ๆ ก็ไหลออกมา…”
“…พอขบวนรถท่านเสด็จฯ ผ่าน  พี่ก็น้ำตาท่วมเลย  ได้แต่โบกธง  พยายามจะตะโกนคำว่า “ทรงพระเจริญ” แต่มันพูดไม่ออกน่ะค่ะ  มันสะอื้นเฮือกออกมาจากข้างในอกเลย  ไม่รู้ว่าเป็นอะไรค่ะ…”

ผู้เขียนเชื่อว่า พวกเราชาวไทยที่มีความจงรักภักดีทุกคนคงจะเคยมีประสบการณ์ตื้นตันน้ำตาไหลหรืออย่างน้อยก็น้ำตาคลอกันบ้างเวลาเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ไม่ว่าจากการได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จฯ ณ สถานที่จริงหรือเพียงการได้เห็นพระองค์ท่านผ่านสื่อต่าง ๆ

หลายคนพูดเหมือนกันว่า “ไม่รู้ว่าทำไม…” วันนี้เราจะมาพบกับคำตอบว่า “ทำไม” เชื่อหรือไม่ว่าทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสตร์มีคำตอบ!

“ปีติ” ในแง่วิทยาศาสตร์

ผู้เขียนได้อ่านนิยามของปีติในแง่วิทยาศาสตร์ครั้งแรกเมื่อได้ลงทะเบียนเรียนออนไลน์วิชา ศาสตร์แห่งสุข (The Science of Happiness) ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเมืองเบิร์คลีย์เมื่อปีที่แล้ว ผู้ริเริ่มค้นคว้าเรื่องนี้คือศาสตราจารย์โจนาธาน ไฮด์ท (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาสังคมแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก  เขาตั้งคำถามว่า

 “ทำไมบางครั้งมนุษย์เราจึงรู้สึกตื้นตันถึงขั้นน้ำตาไหลเมื่อได้เห็นหรือรับรู้การทำความดีหรือความเสียสละของผู้อื่น…ถึงแม้ตัวเราเองจะไม่ได้เป็นผู้ได้รับประโยชน์นั้นโดยตรง?”

05
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จฯ เยือนถิ่นทุรกันดารเพื่อทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรทุกคน  ภาพจาก Bloggang

หลังจากการค้นคว้าวิจัย ศ.ไฮด์ทค้นพบสิ่งที่เขาเรียกว่า “Elevation” ซึ่งผู้เขียนขอแปลว่า “ปีติ” อันมีนิยามว่า “ความรู้สึกอบอุ่นใจ ซาบซึ้งประทับใจ และการรู้สึกว่าจิตได้รับการยกขึ้น” ศ.ไฮด์ทกล่าวว่า สภาวะ “ปีติ” นี้ จะเกิดขึ้นเมื่อเรา “ได้เห็นผู้อื่นทำความดี แสดงความเมตตากรุณา หรือความกล้าหาญ” ทันทีที่เห็นคำนิยาม ผู้เขียนก็นึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นมาทันที

06
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฏิสันถารกับเด็กที่ได้รับพระราชทานความช่วยเหลือ  ภาพจาก Ohayo-tepoy

“ปีติ” ไม่ได้เพียงแค่ทำให้เราน้ำตาไหลเท่านั้น  แต่ศ.ไฮด์ทค้นพบว่ามันส่งผลให้เรา “ลงมือทำ” อะไรบางอย่างต่อไปด้วย! ลองอ่านดูว่าคุณเองก็เป็นเช่นนี้หรือไม่

ผลที่ตามมาของ “ปีติ”

ศาสตราจารย์ไฮด์ทอธิบายว่าเมื่อภาวะ “ปีติ” นี้เกิดขึ้นกับใคร มันจะส่งผลให้ผู้นั้น
๑) อยากช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง
๒) อยากเป็นคนที่ดีขึ้นมีคุณธรรมขึ้น และ
๓) ทำให้เกิดความต้องการที่จะมีส่วนร่วมหรือผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับบุคคลที่ทำให้เราเกิดความ “ปีติ” นั้นด้วย

ฟังแล้วยิ่งขนลุกและรู้สึกขึ้นมาว่า “ใช่เลย!” เพราะไม่เพียงน้ำตาแห่งความปีติเท่านั้น  เมื่อคนไทยเราได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เราจะอยากทำสิ่งต่อไปนี้ด้วย คือ

๑) “ทำดีเพื่อพ่อหลวง” ในรูปแบบการช่วยเหลือผู้อื่น
๒) “ตั้งใจจะเป็นคนดีเพื่อพ่อ” และ
๓) ตั้งสัจจอธิษฐานว่า “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” ซึ่งก็คือความประสงค์ที่จะ “ผูกพัน” เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ท่านนั่นเอง

ตรงเป๊ะครบทั้ง ๓ ข้อตามผลการวิจัยของศ.ไฮด์ททุกประการ!

07
ภาพประชาชนจิตอาสาทำสาธารณะประโยชน์ในโครงการทำดีเพื่อพ่อ  ภาพจาก โพสต์ทูเดย์

“ปีติ” ที่วิทยาศาสตร์ยังอธิบายไปไม่ถึง

แต่ที่น่าสนใจก็คือ คนไทยเราจะเกิดภาวะ “ปีติ” นี้ไม่เพียงแต่ในขณะที่เราเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุขช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความลำบากเท่านั้น

เพราะเพียงแค่ได้เห็นพระองค์ท่านโบกพระหัตถ์ให้ หรือแม้แต่การได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ในขณะแย้มพระสรวลน้อย ๆ ในคลิปเพลงสรรเสริญพระบารมี  คนไทยเราก็สามารถเกิดภาวะ “ปีติ” นี้ได้เช่นกัน

อย่าว่าแต่การได้เห็นพระองค์ท่านเลย  ผู้เขียนเองและเชื่อว่าชาวไทยแทบทุกคนที่ไปรอเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จอยู่ริมถนนก็เคยเกิดสภาวะ “ปีติ” น้ำตาไหลจากการเพียงได้เห็นรถพระที่นั่งประดับธงประจำพระองค์วิ่งช้า ๆ มาแต่ไกลแล้ว

08
รถพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังเคลื่อนมาช้า ๆ โดยมีพสกนิกรจำนวนมหาศาลเฝ้ารอรับเสด็จฯ อยู่สองข้างทาง  ภาพจาก teenee

09
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงทอดพระเนตรพสกนิกรของพระองค์ที่มารอเฝ้ารับเสด็จฯ สองข้างทางด้วยพระเมตตา ภาพจาก Khanmsangenglish

คำอธิบายทางพุทธศาสตร์

ถึงแม้วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมแค่ได้เห็นเพียงรถพระที่นั่งพร้อมธงประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังเคลื่อนที่มาช้า ๆ พวกเราคนไทยก็เกิดปีติตื้นตันน้ำตาไหลได้แล้ว แต่พุทธศาสตร์สามารถอธิบายได้

นั่นคือ จิตมนุษย์นั้นเป็น “ธาตุรู้” พูดง่าย ๆ ก็คือ จิตเราสามารถ “รับรู้” ได้ถึง “พระเมตตา” ที่มีต่อพวกเราตลอดมาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่ว่าในวินาทีนั้นสายตาเราจะกำลังเห็นภาพของพระเมตตาอยู่หรือไม่ก็ตาม!

พระเมตตาที่บางท่านอาจยังไม่รู้

พระเมตตานั้นลึกซึ้งกว่าที่เราเห็นด้วยตาจากพระราชกรณียกิจที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงช่วยราษฎรตามถิ่นทุรกันดารมากมายนัก เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง “เจริญเมตตาภาวนา” ให้พสกนิกรและสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เสมอด้วย

การเจริญเมตตาภาวนา  คือการตั้งจิตเป็นสมาธิ ส่งความเมตตาปรารถนาดีอยากเห็นผู้อื่นเป็นสุขที่ส่งออกมาจากหัวใจอย่างไร้เงื่อนไขและไม่ปรารถนาสิ่งใดตอบแทน

10
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฏิสันถารกับคุณยายตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี ที่มาเฝ้ารอถวายดอกบัว 3 ดอกตั้งแต่เช้า ภาพจาก คุณอาณัติ บุนนาค

จากการศึกษาคำปรารภของเหล่าพระอริยสงฆ์ของไทยทุกองค์ที่พูดถึงพระองค์ท่าน ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญเมตตาภาวนาเพื่อพวกเราทุกวันอย่างแน่นอน

11
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปกราบนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542  ภาพจาก Dhammajak

นอกจากนี้ในทุก ๆ วันพระ (อย่างน้อยในช่วงก่อนที่จะมีพระชนมพรรษามากขึ้นและทรงพระประชวร) ก็ยังทรงรักษาอุโบสถศีล หรือศีล ๘  และทรงอธิษฐานบุญกุศลนั้นให้พสกนิกรอย่างพวกเราทุกคนอยู่เย็นเป็นสุขอีกด้วย

“จิต” รู้ แม้ “สมอง” ยังไม่รู้!

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงยอมสละความสะดวกสบายส่วนพระองค์ งดพระกระยาหารเย็น งดเว้นมหรสพในวันพระ รักษาศีลเจริญภาวนา เพื่อที่จะทรงอธิษฐาน “ยกส่วนบุญกุศลนั้นให้ประชาชนทุกคน” มาเป็นเวลาหลายสิบปีนั้น  “จิต” ซึ่งเป็นธาตุรู้ของพวกเราต้องรับรู้ได้แน่นอน

“จิต” ของพวกเราทุกคนได้รับพระเมตตาและพระกุศลที่ทรงอุทิศให้พวกเรามาโดยตลอด  ดังนั้นจิตจึง “รู้” และ “จำได้” ถึงแม้ “สมอง” ของพวกเราจะยังไม่เคยทราบเรื่องราวเหล่านี้มาก่อนก็ตาม! และนั่นคือคำอธิบายทางพุทธศาสตร์ว่า  “ทำไมเราถึงตื้นตันน้ำตาไหลเมื่อเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

12
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรลงมายังประชาชนที่เข้าเฝ้าฯ อยู่ด้านล่างของโรงพยาบาลศิริราช  ใจของผู้เขียนรู้สึกว่า แม้ขณะนี้ก็ยังทรงทอดพระเนตรลงมาที่พวกเราจากเบื้องบนอยู่ด้วยความห่วงใยเสมอ  ภาพจาก bloggang

อย่าเพียงแต่โศกเศร้า แต่เราจงสืบสานพระราชปณิธาน

วันนี้ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ สู่สวรรคาลัยแล้ว  พวกเราชาวไทยอย่าเพียงแต่โศกเศร้า  แต่เราจงร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานด้วยการ “ทำดีเพื่อพ่อ” กันตลอดไปเถิด  เพื่อที่เราจะได้มีกำลังกุศลพอที่จะได้ “เกิดเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” จริง ๆ สมดังคำอธิษฐาน

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “สำเร็จทางโลก เพราะสุขทางธรรม” ของผู้เขียน หากมีกุศลใดที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่บทความนี้เป็นธรรมทาน  ผู้เขียนขอถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งหมด  ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้มีโอกาสเกิดเป็นข้ารองพระบาทในชาตินี้

และขอให้ทีมงานทุกท่านที่สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะได้มีส่วนร่วมในกุศลดังกล่าวไปด้วยทุกประการ

เรื่องน่าสนใจ