เสริมหน้าอก ขึ้นเครื่องบินได้หรือไม่?

500_12

 

อาชีพลูกเรือ หรือที่เราเรียกกันเป็นที่เข้าใจว่า แอร์โฮสเตส เป็นหนึ่งในอาชีพที่สาวๆ หลายคนให้ความสนใจ เป็นอาชีพซึ่งจำเป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ต้องให้บริการผู้โดยสารและต่อสู้กับสภาพความดันอากาศหลายๆรูปแบบ ทางสมาคมฯขอเสนอข่าวเกี่ยวกับแอร์โฮสเตสที่น่าสนใจกรณีนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้เกี่ยวกับศัลยกรรมเสริมหน้าอกไปด้วย

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 สำนักข่าวต่างประเทศ (www.dailymail.co.uk) รายงานว่าประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นแอร์โฮสเตสร้องเรียนสายการบินแห่งหนึ่ง ว่าในขั้นตอนของการตรวจสุขภาพของผู้สมัคร มีการตรวจเต้านมด้วยว่าได้รับการเสริมหน้าอกมาหรือไม่ โดยทางสายการบินไม่ประสงค์ให้มีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ได้รับการผ่า ตัดเสริมหน้าอก เพราะอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ โดยเฉพาะถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศในห้องผู้โดยสาร

โอ้โห บอกเหตุผลกันถึงขนาดนี้ แล้วอย่างงี้ คุณผู้หญิง (รวมถึงคุณผู้ชาย!) ที่ได้รับการเสริมหน้าอก หรือกำลังคิดจะเสริม อาจมีคำถามว่า เอ๊ะ หากได้รับการเสริมหน้าอกแล้วจะขึ้นเครื่องบินได้ไหมนะ? หรือจะไปสมัครเป็นแอร์โฮสเตสได้ไหมเอ่ย? ถุงเต้านมแบบไหนที่ปลอดภัยขึ้นเครื่องได้?

ชักน่าสนใจ คำถามยังมีตามมาว่าแล้วเครื่องตรวจโลหะที่สนามบินจะร้องไหม? หรือ หากโดยสารเครื่องบินขาขึ้นและขาลง (take off & landing) ซึ่งหูเรายังอื้อ แล้วถุงเต้านมเราจะมีการขยายขนาดจนระเบิดหรือหดเล็กลงจนแฟบหายไปหรือไม่? ถ้าเช่นนั้นต้องนวดหน้าอกไปด้วยคาดเข็มขัดนิรภัยไปด้วยหรือเปล่า?

ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งกังวลไป เพราะปัจจุบันถุงเต้านมเทียมที่เป็นที่นิยมใช้ประกอบไปด้วย ส่วนเปลือกห่อหุ้ม (นิยมทำจากสารยางซิลิโคน) และส่วนที่เป็นสารภายใน (นิยมบรรจุเป็นซิลิโคนเจลหรือน้ำเกลือ) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดในร่างกายเมื่อขึ้นไปอยู่ในที่สูงมากๆเช่นยอด เขา หรือบนเครื่องบิน (แตกต่างจากการที่เราหูอื้ออันเกิดจากมวลอากาศในช่องหูขยายตัว) และนอกจากนี้ เครื่องบินพานิชย์โดยสารที่เราเดินทาง มีการปรับรักษาความดันอากาศในห้องโดยสาร (cabin air pressure) ให้เป็นปกติที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่ถุงเต้านมเทียมจะขยายระเบิดเกิดปัญหาเพราะการเปลี่ยนแปลง ความดันอากาศบนเครื่องบินโดยสารนั้น แทบจะไม่มีเลย

ในเรื่องของรูปร่างของถุงเต้านมเทียม (ทรงกลม หรือ หยดน้ำ) และลักษณะผิว (ผิวเรียบ หรือ ผิวทราย) รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการใส่เต้านมเทียมชนิดต่างๆ (expander-prosthesis) นั้นก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดแต่อย่างใด

สรุปว่า ขอชี้แจงให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเสริมเต้านมทราบว่า สามารถโดยสารเครื่องบินได้โดยปลอดภัย ไม่มีปัญหาถุงเต้านมยุบพอง หรือแตกระเบิดกลางอากาศแน่นอน แต่มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ก่อนการเดินทาง ควรปรึกษาศัลยแพทย์และควรระมัดระวังในการเดินทาง เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้

อ้อ แถมนิดนึง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำลึก (scuba diving) ก้อสามารถปฏิบัติได้โดยปลอดถัยเช่นกันครับ เอาหล่ะครับ ทีนี้เตรียมแพคกระเป๋าเดินทางกันได้แล้ว

 

ที่มา

www.dailymail.co.uk

www.plasticsurgery.or.th

เรื่องน่าสนใจ