ที่มา: dodeden

นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสถานพยาบาลและการสนับสนุนภาคประชาชนของกรม สบส. กล่าวว่า

ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว ประชาชนหลายคนเริ่มทยอยกลับเข้าบ้าน จากการตรวจเยี่ยมประชาชนหลายพื้นที่ เช่น ที่ อ.พะโต๊ะ, อ.ปะทิว จ.ชุมพร และ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังน้ำลดปรากฏว่ามีดินโคลนจำนวนมากหนา 15-30 เซนติเมตร และคาดว่าหลายพื้นที่จะประสบปัญหาคล้ายๆกัน

ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ประชาชนเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน เมื่อน้ำลดถึงระดับข้อเท้าเนื่องจากจะทำความสะอาดได้ง่าย และดินโคลนไม่จับเป็นตะกอน แต่หากปล่อยให้ดินโคลนแห้งจะยากต่อการทำความสะอาดสิ้นเปลืองน้ำมาก และให้เปิดประตู หน้าต่างบ้านเพื่อระบายอากาศไม่ให้อับชื้น

ก่อนทำความสะอาด ขอแนะนำให้ประชาชนสวมรองเท้าบูทหรือรองเท้าผ้าใบพื้นแข็ง หากไม่มีให้ใส่รองเท้าแตะที่พื้นแข็ง เพื่อป้องกันของมีคม อาทิ เศษแก้ว ตะปู สังกะสี กิ่งไม้ ที่อยู่ในโคลนตมทิ่มแทง เกิดบาดแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในดินโคลนได้ง่าย เช่น โรคบาดทะยัก โรคฉี่หนู เป็นต้น และเมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้ชำระล้างร่างกาย ให้สะอาดทุกครั้ง

นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อไปว่า กรณีที่เกิดผาดแผลจากการทำความสะอาดบ้านขอให้รีบล้างบาดแผล ขจัดดินโคลนออกจากแผลด้วยน้ำสะอาดให้ได้มากที่สุด หากมีแอลกอฮอลล์ให้เช็ดผิวหนังบริเวณรอบแผลโดยเช็ดจากขอบแผลด้านในวนออกไปด้านนอกแผล 2-3 นิ้ว จากนั้นจึงใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน, ทิงเจอร์ไอโอดีน

หากบาดแผลไม่ใหญ่ หรือไม่ลึก ไม่ต้องปิดแผลปล่อยให้แผลแห้งเอง แต่หากแผลลึกควรปิดปากแผลจากนั้นให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรืออาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดูแลบาดแผลให้ถูกวิธี

สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และประการสำคัญจะต้องดูแลรักษาบาดแผลให้สะอาดไม่ให้แผลโดนน้ำ รับประทานอาหารประเภทโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ รวมทั้งผัก ผลไม้สดเพื่อช่วยให้บาดแผลหายเร็วยิ่งขึ้น

เรื่องน่าสนใจ