โรคแพนิค คืออาการที่เรากำลังกลัว หรือกังวลต่อสิ่งใดสักอย่าง และมีอาการใจสั่น หวิวๆ ที่หน้าอก ปวดท้อง คนส่วนใหญ่ พอเกิดอาการข้างต้น มักกลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ จึงรีบส่งตัวเองไปที่ห้องฉุกเฉิน แต่แล้วคุณหมอก็ตรวจไม่พบอะไร ทําให้ยิ่งกังวลไปกันใหญ่ สรุปแล้ว ฉันเป็นอะไรกันแน่? ที่น่าเป็นห่วงจริงๆ คือแทบไม่มีใครเลยที่รู้จักกับ โรคนี้ ที่จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่??

 

โรคแพนิค
ภาพจาก therecoveryvillage.com

 

โรคแพนิค ต่างจากโรคหัวใจอย่างไร?

โรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก เป็นภาวะที่มีความวิตกกังวลสุดขีด หรือมีความกลัว หรือความอึดอัดไม่สบายอย่างรุนแรง อาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และถึงขีดสูงสุดในเวลา 10 นาที อาการจะคงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ทุเลาลง และมักจะหายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากอาการหาย ก็มักจะเพลีย และในช่วงที่ไม่มีอาการ มักจะกังวล กลัวว่าจะเป็นอีก ซึ่งอาการดังกล่าว จะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น

สารพัดอาการของโรคแพนิคที่เห็นได้ชัด แต่ก็ยังดูใกล้เคียงกับโรคหัวใจ จนหลายคนมักเข้าใจผิด ได้แก่ ใจสั่น ใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก ตัวสั่น หายใจชัด หายใจไม่อิ่ม รู้สึกอึดอัด หรือสําลักเหมือนมีก้อนจุกที่คอเจ็บ หรือแน่นหน้าอก คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง มึนงง วิงเวียน รู้สึกโคลงเคลง หรือเป็นลม ชามือ – ชาเท้า หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ หรือแม้กระทั่งรู้สึกว่าส่วนต่างๆ ในร่างกายของตัวเอง หรือสิ่งแวดล้อมนั้นเปลี่ยนไปไม่เหมือนจริง กังวลมากจนถึงขั้นกลัวจะควบคุมตัวเองไม่ได้ รวมถึงกลัวจะเป็นบ้า กลัวว่าจะตาย

 

โรคแพนิค
ภาพจาก today.com

 

อาการข้างต้นของ โรคแพนิคนั้นสามารถเกิดที่ไหน หรือเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งคาดเดาได้ยาก แต่บางคนมักพยายามสังเกต และเชื่อมโยงหาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยง และรู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้บ้าง สาเหตุจริงๆ ของโรคนั้น เชื่อว่ามีปัจจัยหลายประการ ที่อาจประกอบกันทําให้เกิดอาการ เช่น

  • ด้านร่างกาย
    มีปัญหาในการทํางานของสมองส่วนควบคุมความกลัว (fear)
  • ด้านกรรมพันธุ์
    โรคนี้อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน
  • ด้านจิตใจ
    เช่น การได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง หรือในบางราย อาจไม่มีสิ่งกระตุ้นเหล่านี้เลย และถึงแม้ว่าสิ่งกระตุ้นได้หมดไปแล้วก็ตาม แต่บางคนก็ยังคงมีอาการจู่โจมเกิดขึ้นต่อไป

……………………………………………………………………………………

ปัจจุบัน วิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือการรักษาด้วยยา ซึ่งควรปฏิบัติตามคําแนะนําของแพทย์ ถึงแม้ว่าอาการดีขึ้นแล้ว แต่ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะอาจมีอาการกําเริบได้ อีกวิธีหนึ่งคือการดูแลทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นการรักษาแบบ Cognitive Behavioral Therapy โดยการให้ความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับอาการแพนิคร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น การฝึกผ่อนคลาย การฝึกหายใจ และการเผชิญกับสถานการณ์ที่ทําให้รู้สึกกลัว เป็นต้น

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ