ที่มา: Posttoday

ทุกวันนี้หลายๆ คนทำงานกันอยู่หน้าคอมพิวเตอร์กันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสายตา โรคทางร่างกายจากการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน หรือโรคออฟฟิศซินโดรมที่รู้จักกันไปแล้ว วันนี้ Dodeden.com จะพาทุกท่านไปรู้จักโรคใหม่ กับโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ เพราะการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ เราต้องมีการจับเมาส์เป็นเวลานาน และนั่นอาจจะทำให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มือบริเวณข้อมือเกิดการอักเสบ และบวมขึ้นได้! 

ในปัจจุบันโรคปลอกหุ้มข้อมืออักเสบมักพบได้บ่อยในคนที่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือบ่อยๆ ในท่ากางนิ้วหัวแม่มือออกทางด้านข้างและกระดกขึ้น ใช้ข้อมือเยอะๆ หรือในบางรายอาจพบว่าเคยมีการบาดเจ็บในตำแหน่งนี้มาก่อน เช่น พนักงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือเมาส์ทำงานเป็นเวลานาน  แม่บ้านที่ทำความสะอาดบ้านหรือนักกีฬาประเภทแบดมินตัน ปิงปอง วอลเลย์บอล เป็นต้น 

Working too much - suffering from a Carpal tunnel syndrome - you

โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บและบวมบริเวณข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ บวมบริเวณเอ็นตรงโคนนิ้วหัวแม่มือ อาการอาจจะค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจจะเกิดทันที อาการปวดอาจจะร้าวไปข้อศอก หรือมีอาการชาด้านหลังนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ อาการจะปวดมากโดยเฉพาะเวลาหยิบจับสิ่งของ หรือมีการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ เช่น เวลาเหยียดและงอนิ้วหัวแม่มือเต็มที่ บิดเสื้อผ้า ยกขันน้ำ กวาดพื้น อุ้มลูก เป็นต้น

ในการตรวจนั้น จะให้ผู้ป่วยทำท่ากำนิ้วหัวแม่มือและให้หักข้อมือลงทางด้านนิ้วก้อย ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดเจ็บบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือแสดงว่าผู้ป่วยมีภาวะโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ เราเรียกการตรวจนี้ว่า “Finkelstein’s test”

การป้องกันของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

1. หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ ในท่ากางนิ้วออกหรือกระดกนิ้วขึ้น
2. ถ้าปวดมากอาจใช้ผ้ายืดพัน หรือใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วหัวแม่มือ
3. ประคบด้วยความร้อน หรือใช้ยานวดบรรเทาอาการปวด
4. งานบางอย่างต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้าหรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ เช่นทำ 45 นาที ควรจะพักมือสัก 10 นาที
5. ถ้ามีอาการข้อฝืด กำไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่น้ำอุ่น และบริหารโดยการขยับข้อมือเบาๆ ในน้ำ จะทำให้ข้อมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น

วิธีบริหารข้อมือ

1.ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือแตะกับปลายนิ้วชี้ค้างไว้ 5 วินาที แล้วจึงใช้นิ้วหัวแม่มือสลับแตะนิ้วก้อยค้างไว้อีก 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
2.ดัดข้อมืองอลงให้มากที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที สลับกับดัดข้อมือกระดกขึ้นให้มากที่สุด ค้างอีก 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
3.หงายมือขึ้น กำมือ แล้วค่อยๆ กระดกข้อมือขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที แล้วค่อยกลับไปตำแหน่งเดิม ทำซ้ำ10 ครั้ง
4.คว่ำมือลง กำมือ แล้วกระดกข้อมือขึ้นค้างไว้ 5 วินาที แล้วกดข้อมือลงค้างอีก 5 วินาที สลับกัน 10 ครั้ง
5.ทำมือในลักษณะจับคันเบ็ดตกปลา กระดกข้อมือขึ้น–ลง สลับกัน 10 ครั้ง

วิธีที่ 3–5 สามารถใช้กระป๋องหรือวัตถุที่มีน้ำหนักมาถือด้วยก็จะดีมาก

6.บีบวัตถุ เช่น ลูกบอลเล็กๆ ดินน้ำมัน บีบให้แน่นที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที สลับกับคลายออก ทำซ้ำ 10 ครั้ง
7.ใช้ยางวงใหญ่ 1 เส้นคล้องนิ้วมือทั้ง 5 แล้วกาง–หุบนิ้วมือเพื่อยืดยางออก ทำ 10 ครั้ง

เรื่องน่าสนใจ