กลายเป็นข่าวที่ช็อกวงการสื่ออีกครั้งหลัง นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจขายธุรกิจสิ่งพิมพ์ยกลอตให้ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ในนามบริษัทซีทรู ทำธุรกิจออร์แกไนซ์ รับจัดงานอีเวนต์ งานพีอาร์ งานโปรโมชั่นต่างๆ
ทำให้หลายคนสงสัยว่าเจ้าพ่อสื่อคนใหม่คนนี้เป็นใคร ทำไมถึงหาญกล้าโดดเข้ามาในสนามที่การแข่งขันดุเดือดเช่นนี้
ไทยรัฐออนไลน์รวม 15 เรื่องทำความรู้จัก ‘เจ้าพ่อสื่อคนใหม่’ ในนาม โจ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซีอีโอหนุ่มหัวใจซ่า ซุปเปอร์คอนเน็กชั่นเมืองไทย !!
ซุปเปอร์คอนเน็กชั่นเมืองไทย
1.เชื่อหรือไม่ว่า ก่อนหน้าจะติดอันดับมหาเศรษฐีด้วยทรัพย์สินมูลค่า 9.04 พันล้านบาท (ขณะนั้น) ธรรศพลฐ์ (เปลี่ยนชื่อจริงจากชื่อ ‘ทศพล’ โดยให้พระที่นับถือเปลี่ยนชื่อให้) เป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวไม่มีแต้มต่อ เป็นลูกบุญธรรมฝรั่ง (คุณพ่อเป็นช่างทำรถเป็น Engineer คุณแม่เป็นแม่บ้าน) เกิดในครอบครัวชาวบ้านธรรมดาๆ แต่เป็นบ้านที่มีความเฮฮาและสนุกมากมาย
2.ก่อนหน้าจะก้าวขึ้นเป็นเจ้าพ่อสื่อคนใหม่ที่เข้าเทคโอเวอร์ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของแกรมมี่ทั้งหมด ได้แก่ หัวนิตยสารของแกรมมี่ทั้งหมด 6 ฉบับประกอบด้วย นิตยสารอิมเมจ ที่ทำธุรกิจมา 29 ปี, นิตยสารอินแมกกาซีน ทำธุรกิจมา 10 ปี, นิตยสารมาดาม ฟิกาโร่ ทำธุรกิจมา 10 ปี, นิตยสารแม็กซิม, นิตยสารเฮอร์เวิลด์ และนิตยสารแอตติจูด ตอนเด็กๆ เขาอยากเป็น ‘ทูต’ มาก่อน ด้วยเหตุผลได้เดินทางเยอะ แน่นอนว่ามาถึงตอนนี้ถือว่าสมใจเพราะเขาเดินทางทั่วโลกเป็นว่าเล่น
3.เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอแบค เรียนไม่เก่ง เกเร แต่แทบจะไม่เคยโดนเรียน (แต่สมองไม่เปิดให้จดจำตำรา) ชอบดื่ม และเป็นคนบ้าทำกิจกรรมมากๆ ใช้ชีวิตหมดไปกับนอกห้องเรียน ชอบเล่นกีฬา เช่น บาสฯ ชอบอยู่กับเพื่อนๆ โบกรถสิบล้อ แบกเป้ออกต่างจังหวัด เห็นครีเอตๆ แบบนี้ แต่เด็กๆ เขายอมรับว่าเรียนสอบได้คะแนนต่ำทุกวิชา ยกเว้นวิชาคอมพิวเตอร์ ที่สุดก็คว้าปริญญาตรีด้วยเกรดเฉลี่ย 2.01 กับระยะเวลาไม่มากไม่น้อย 5 ปีนั่นเอง
4.ก่อนหน้าเข้ามาทำธุรกิจการบินมูลค่ามหาศาลนี้ รู้หรือไม่ว่า เขาเคยเป็นเซลส์ขายคอมพิวเตอร์ด้วยการแบกขึ้นรถเมล์ไปได้เงินเพียง 3,500-5,000 บาท (รวมค่าคอมมิชชั่น) ทั้งนี้เฉลี่ยแล้วเขาจะมีรายได้เพียง 8,000 บาทต่อเดือน (รวมแม่ให้อีกเป็นค่าใช้จ่าย 3,000 บาทต่อเดือน) ซึ่งเงินที่หามาได้ ก็ไม่ได้เอาไปทำอะไร เก็บเอาไว้ท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ แบบที่ตัวเองชื่นชอบ
5.ก่อนเป็นซีอีโอแอร์เอเชีย ธุรกิจการบินมูลค่ามหาศาล ธรรศพลฐ์ ผ่านงานมา 3 บริษัท บริษัท อาดัมส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ ทำเกี่ยวกับการตลาด โฆษณา และ บริษัทวอร์เนอร์มิวสิก (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจเพลง จนกระทั่งมาคุมบังเหียนใหญ่ที่ไทยแอร์เอเชีย
เจ้าพ่อสื่อคนใหม่
6.นอกจากงานข้างต้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลายคนรู้ ธรรศพลฐ์ เคยทำงานอยู่กับท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และเขียนบทหนังถึงขั้นส่งไปชิงรางวัลออสการ์ เขาบอกว่าเป็นลูกมือท่านมุ้ยทำงานหนักมาก ไม่นอน 3 วัน 3 คืน แต่ก็สนุกมากเช่นกัน ทำทุกอย่าง ตั้งแต่ติดต่อเมืองนอก ติดต่อ นู่น นี่ นั่น นั่งเขียนบท ตัดต่อบทส่งให้ดารา โดยรู้จักท่านมุ้ยเพราะเพื่อนที่เรียนด้วยกันพี่สาวเขาเป็นหม่อมที่รู้จักกับท่านก็เข้า-ออกในกองถ่ายตั้งแต่อยู่มัธยม โดยทำภาพยนตร์อยู่กับท่านมุ้ย 3 เรื่อง 1.คนเลี้ยงช้าง 2.มือปืน 2 สาละวิน และ 3.น้องเมีย โดยหนังเรื่องคนเลี้ยงช้างส่งออสการ์ โดยเขาเป็นคนทำซับไตเติ้ลซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่ส่งออสการ์
7.ธรรศพลฐ์ พูดถึงท่านมุ้ยว่า ดูยิ่งใหญ่มาก เก่งมีความสามารถ และอึด อดทนมากมาย ทำหนังแบบไม่หลับไม่นอน 3 วัน 3 คืน ถ้าไม่เสร็จก็ไม่นอนเลย ไม่รู้อยู่ได้ไง ‘บางทีผมยังง่วงเลย แกอายุเยอะกว่าตั้งเยอะ’
8.เขาเล่าประสบการณ์ที่ทำงาน บริษัท อาดัมส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ ทำเกี่ยวกับการตลาด โฆษณา ว่าทำงานสนุกและได้ประสบการณ์มากทำอยู่นาน 5 ปี ส่วนการทำงานที่ warner music ก็สนุกมากๆ เช่นกัน ได้ลูกน้องดี ได้มิตรแท้ พี่แท้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพี่แอ๊ด และกลุ่มคาราบาว ปู-พงษ์สิทธิ์ มี วิยดา โกมารกุล และพี่ๆ อีกหลายๆ คน อยู่ที่นั่น 5 ปี แล้วกระโดดมาทำ แอร์เอเชีย โดยทีมงานแอร์เอเชีย ยุคแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นทีมที่มาจาก warner music จากหลายๆ ประเทศ มาฟอร์มทีมกัน ตั้งกันเป็นแอร์เอเชีย แล้วก็เลยชวนกันออกมาทำ
9.ธรรศพลฐ์ บอกว่าออกมาทำไทยแอร์เอเชีย ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำธุรกิจการบิน ส่งผลให้ตอนแรกประสบปัญหาทุกอย่างเพราะไม่รู้เลย แต่เขาก็ใช้วิธีแก้ไปทีละเปลาะๆ 3-4 ปี จึงเริ่มที่จะพอเข้าที่เข้าทางบ้าง โดยในยุคแรกก่อนจะเป็นอาณาจักรที่นี่เริ่มต้นด้วยคนราว 200 เอง โดยบริษัทแม่แอร์เอเชีย ถือหุ้น 49% ธรรศพลฐ์และเพื่อนๆ ถือหุ้นในสัดส่วน 51%
10.ซีอีโอไทยแอร์เอเชียหัวใจซ่า ยอมรับว่าในยุคหนึ่งแอร์เอเชียถูกการเมืองมากระทบ เพราะขณะนั้นคุณทักษิณ (ถือหุ้นไทยแอร์เอเชีย 49% ) ขายหุ้นให้เทมาเส็กแต่นโยบายไม่ชัดเจน คนในองค์กรเร่ิมไม่มั่นคง แต่พวกเขาต้องการให้ไทยแอร์เอเชียปลอดการเมือง ก็เลยคุยกับผู้บริหารทั้ง 5 คนในปัจจุบันว่าต้องไปซื้อกลับมาจากเทมาเส็ก ถามว่าตัดสินใจอย่างไร ตอนนั้นไม่ต้องตัดสินใจเลย ต้องทำเลย ไม่งั้นเดี๋ยวไม่ทัน
11.ในวงสนทนา 5 คนวันนั้นคุยอะไรกันบ้างหลายคนอยากรู้ ธรรศพลฐ์ บอกว่า ถามกันว่าเอาไหม ทุกๆ คน (ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย, พรอนันต์ เกิดประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน, นาวาอากาศเอกธนภัทร งามปลั่ง ผอ.การฝ่ายปฏิบัติการการบิน ปรีชญา รัศมีธานินทร์ ผอ.วิศวกรรม หม่อมหลวงบวรนวเทพ เทวกุล ผอ.การฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และสันติสุข คล่องใช้ยา ผอ.ฝ่ายการพาณิชย์) พูดตรงกันว่าเอา แล้วต่างคนก็ไปหาเงินเกือบพันล้าน โดยกู้แบงก์ต่างชาติเป็นก้อนทีเดียว ซึ่งวันนี้พูดได้เต็มปากและเต็มใจ ว่าไทยแอร์เอเชียคือของคนไทยเพราะจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
12.ปัจจุบันธรรศพลฐ์มีครอบครัวแล้ว มีลูกสาว 1 คน เขาบอกว่าเขาเลี้ยงลูกใกล้ชิดด้วยตัวเอง โดยลูกสาวออกนิสัยเหมือนพ่อ ออกติสต์ๆ ชอบเคป๊อป เขาเชื่อเรื่องการตีลูกแบบมีเหตุผล พอโตแล้วจะไม่ตีจะใช้วิธีพูดคุยด้วยเหตุผล และแม้จะมีเงินมากมหาศาล แต่เขาบอกว่าเป็นคนใช้ชีวิตปกติ ไม่ฟุ่มเฟือย และยังคงซ่าเหมือนเดิม
13.เขาเป็นผู้บริหารที่ขึ้นชื่อเรื่องการให้โอกาสคน มีอารมณ์ขัน และเป็นคนพูดสั้นๆ ได้ใจความ ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว
14.นักข่าวเคยถามธรรศพลฐ์ว่าถ้าเปรียบเทียบเป็นผู้หญิงไทยแอร์เอเชียจะมีบุคลิกยังไง หน้าตายังไง เขาบอกว่า เปรี้ยวและสวย แล้วคงจะไฮเปอร์เล็กน้อย มีกลิ่นหอมประจำตัว สโลแกน Now everyone can fly ก็ผุดขึ้นมาจากหัวของเขาเอง ด้วยความตั้งใจ อยากให้ทุกคนบินได้ ทรรศพลฐ์เคยประกาศว่าอีก 3 ปี ไทยแอร์เอเชียจะเป็นที่ 1 ในประเทศไทย เรื่องจำนวนผู้โดยสาร และกำไร
15.ธรรศพลฐ์บอกว่า สนใจการเมืองไหม แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา
อ้อ…ข้อนี้แถม ซึ่งอธิบายอนาคตของเจ้าพ่อสื่อคนใหม่หลังจากนี้ว่า ‘มั่นใจว่าทั้งผมและทีมงานของนิตยสารเล่มต่างๆ ที่ทำอยู่มีประสบการณ์และชำนาญมาก และการเข้ามาลงทุนสื่อสิ่งพิมพ์ หวังจะทำให้วงการนิตยสารมีการปรับโฉมแบบผู้อ่านตะลึงและคาดไม่ถึง โดยมั่นใจว่าจะบริหารงานให้มีกำไรภายใน 3 ปี และหลังจากนั้นจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจ’
ในส่วนแนวทางในการบริหารงานนั้นจะให้ความมั่นใจกับบุคลากรที่อยู่เดิมในแต่ละเล่มทั้ง 6 เล่มรวมกว่า 80 คน จะไม่มีการปรับเปลี่ยนพนักงานแต่ละกองบรรณาธิการ ทุกคนทำหน้าที่ในความรับผิดชอบเดิม ผมแค่เข้ามาบริหารภาพรวมเท่านั้น โดยในส่วนของรูปแบบเนื้อหาในหนังสือ (คอนเทนต์) อาจจะปรับให้มีความสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคน เพื่อนำหนังสือทั้ง 6 เล่มจากระบบอนาล็อกมาลงในสื่อดิจิตอล ที่บริษัทได้เตรียมพร้อมไว้ เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าสู่ผู้บริโภคให้ง่ายขึ้น
และทั้งหมดนี้ คือเส้นทาง เรื่องราว และแนวความคิดของเจ้าพ่อสื่อคนใหม่ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ที่หลายคนดูจากโปรไฟล์ที่ผ่านมาน่าจะทำให้วงการนี้คึกคักอย่างไม่ต้องสงสัยแน่นอน.