ผลการศึกษาชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism โดยนักวิทยาศาสตร์จากเอ็นไอเอช ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการทดลอง 19 คนที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกิน และถูกจำกัดให้ทานอาหารได้วันละ 2,700 แคลอรี่ จากนั้นจะลดปริมาณแคลอรี่ลง 1 ใน 3 ด้วยการตัดลดการบริโภคไขมันหรือคาร์โบไฮเดรตเป็นเวลา 2 สัปดาห์
แล้วทีมวิจัยนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ควบคู่กับปริมาณออกซิเจนที่หายใจเข้าไปและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออกมา ตลอดจนตรวจวัดระดับไนโตรเจนในปัสสาวะของผู้เข้าร่วมการทดลองเพื่อคำนวณหากระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในร่างกายอย่างแม่นยำ
ผลการวิเคราะห์พบว่า การตัดลดไขมันและคาร์โบโฮเดรตช่วยลดไขมันในร่างกายได้ แต่ผู้ที่ลดการทานไขมันมีระดับไขมันในร่างกายลดลงถึง 463 กรัม หรือลดได้ 80% มากกว่าผู้ลดการทานคาร์โบไฮเดรตซึ่งมีไขมันในร่างกายลดลงเพียง 245 กรัม
ดร.ซูซาน โรเบิร์ตส์ และดร.ไซ ดาส แห่งมหาวิทยาลัยทัฟส์ ในสหรัฐฯ บอกว่า ผลการทดลองครั้งนี้หักล้างความเชื่อที่ว่า การทานอาหารแบบมีคาร์โบไฮเดรตต่ำดีกว่า เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ถึงผลกระทบในระยะยาว พร้อมชี้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้คือ การทานคาร์โบไฮเดรตเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากธัญพืชเต็มเมล็ดและมีน้ำตาลต่ำ
อย่างไรก็ตาม ศ.ซูซาน เจบบ์ จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด กล่าวว่า วิธีการควบคุมอาหารที่ดีที่สุดสำหรับการลดน้ำหนัก คือวิธีที่เราสามารถยึดถือปฏิบัติไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณไขมันหรือคาร์โบไฮเดรตที่ทานเข้าไป